Categories
Education Scratch

อบรมครู หลักสูตรการเขียนโปรแกรม Scratch เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ รุ่นที่ 2

กลับมาอีกครั้ง กับการอบรมครูของ สสวท. ในหลักสูตร การเขียนโปรแกรม Scratch เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ อบรมระหว่างวันที่ 15 – 19 กรกฎาคม 2556 ณ โรงแรมรอยัลเบญจา สุขุมวิท 5 กรุงเทพ เปิดรับสมัครวันนี้ – 21 มิถุนายน 2556 อ่านรายละเอียดและเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ที่ http://oho.ipst.ac.th

ครู หรือ ผู้สนใจใน Scratch สามารถติดตามความเคลื่อนไหว พูดคุยกับสมาชิกครูที่อบรมรุ่นที่ 1 หรือ ทีมงาน สสวท. ได้ที่ Scratch FaceBook

Categories
Education Scratch

เริ่มใช้ Scratch แล้วในโรงเรียน

เปิดเทอมใหม่นี้ มีหลายโรงเรียนได้เริ่มสอนหลักสูตรการเขียนโปรแกรม Scratch เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ จากคุณครูที่ได้เข้าร่วมการอบรม Scratch เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (จัดโดย สสวท.) และครูท่านอื่นๆ ที่สนใจ ผ่านทางกลุ่ม Scratch เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

ลองมาดูความคิดเห็นจากครูท่านหนึ่ง หลังจากเด็กๆ ได้เรียน Scratch แล้ว ให้การตอบรับอย่างไร

Facebook: Scratch เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

 

(ขออนุญาตใช้ข้อมูลจาก Scratch เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์) เอาใจช่วยคุณครูทุกท่านที่กำลังผลักดัน Scratch เข้่าไปเป็นหลักสูตรหนี่งในโรงเรียน หวังว่าเด็กๆ คงสนุกกับการเรีิยนรู้อะไรใหม่ๆ ใน Scratch นะครับ

 

Categories
Education

SAS Curriculum Pathways

วันหยุดที่ผ่านมา 22-23/9/2555 มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การใช้งานบทเรียน SAS Curriculum Pathways ให้กับครูในโครงการห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ณ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี จัดทำโดย สสวท.

โครงการนี้เป็นโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ SAS Software (Thailand) Co., Ltd. ได้จัดทำเป็น “โครงการนำร่องบทเรียน SAS Curriculum Pathways ในประเทศไทย”

สำหรับครูท่านใดที่สนใจโครงการนี้ สามารถติดตามข่าวสาร การอบรม ได้ที่ สังคมออนไลน์ของ SAS Curriculum Pathways

Categories
Education

การเรียนการสอนแบบ Flipped Classroom

Flipped Classroom เป็นการจัดการเรียนการสอนที่สวนทางกับสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน โดยให้นักเรียนศึกษาความรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตนอกห้องเรียน นอกเวลาเรียน ส่วนในห้องเรียนจะเป็นการจัดกิจกรรม นำการบ้านมาทำในห้องเรียนแทน

วิธีนี้เด็กมีเวลาดูการสอนของครูผ่านวีดีโอออนไลน์ ดูกี่ครั้งก็ได้ เมื่อไรก็ได้ สามารถปรึกษาพูดคุยกับเพื่อนหรือครู ด้วยโปรแกรมสนทนาออนไลน์ก็ได้  ในห้องเรียนครูให้นักเรียนทำงานที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ดูผ่านวีดีโอ เพื่อทำความเข้าใจหลักการความรู้ผ่านกิจกรรม โดยครูจะเป็นผู้ให้คำแนะนำเมื่อเด็กมีคำถาม หรือติดปัญหาที่แก้ไม่ได้

หลักการของ Flipped Classroom ใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา บวกกับการจัดกิจกรรมในห้องเรียน เนื่องจากเวลาในห้องเรียนมีจำกัด การที่จะให้นักเรียนเข้าใจในหลักการความรู้บางอย่างอาจมีเวลาไม่พอ ดังนั้นการศึกษาความรู้จากการสอนผ่านวีดีโอที่ครูได้บันทึกไว้แล้ว รวมทั้งการอ่านหนังสือเพิ่มเติม ปรึกษาเพื่อนหรือครูออนไลน์ สามารถทำได้ล่วงหน้านอกห้องเรียน ส่วนเวลาในห้องเรียน ครูก็สร้างสภาวะแวดล้อมให้เหมาะกับการจัดกิจกรรมที่ออบแบบไว้ เพื่อให้เด็กได้ลงมือปฎิบัติ ครูก็เดินสำรวจไปรอบๆ ห้อง คอยให้คำแนะนำหลักการที่เข้าใจยาก หรือปัญหาที่เด็กพบ วิธีนี้จะทำให้เด็กเข้าใจความรู้ และเชื่อมโยงในหลักการ มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญไม่ง่วงด้วย!

ถ้าสอนแบบเดิมตามปกติ

ในมุมมองของเด็กนักเรียน อาจตามไม่ทัน ไม่เข้าใจก็ไม่กล้าถาม ครูไม่มีช่องว่างให้ถาม เนื้อหาเยอะอัดแน่นในเวลาที่จำกัด ปรึกษาเพื่อนก็โดนครูดุ เมื่อกลับมาบ้าน ทำการบ้านก็ไม่ได้ เลยต้องลอกเพื่อนตลอด แล้วก็สะสมความไม่เข้าใจตลอดทั้งเทอม

ในมุมมองของครู ก็สอนเหมือนปีที่แล้ว อัดอย่างเดียวเวลามีน้อย มองดูเด็กๆ ในห้องเรียน ก็ไม่มีใครสงสัย การบ้านที่ส่งมาก็ทำได้เหมือนกันหมด ตรวจง่ายจัง ใครเก่งไม่เก่ง วัดกันตอนสอบเลย

ถ้าสอนแบบ Flipped Classroom

ในมุมมองของเด็ก มีเวลามากพอที่จะดูวีดีโอ สามารถปรึกษากับเพื่อนหรือครูออนไลน์ได้ ไม่มีการบ้าน ไม่เครียด ไม่ต้องลอกการบ้านเพื่อนแต่เช้า ทำการบ้าน (กิจกรรม) ในห้องเรียนก็ไม่เครียด มีครู มีเพื่อน ให้คำปรึกษาตลอดเวลา ได้ลงมือปฎิบัติ ได้โต้ตอบกับเพื่อนกับครู เรื่องยากก็ดูจะง่ายขึ้น

แต่ในมุมมองของครู ค่อนข้างหนักทีเดียว เนื่องจากต้องเตรียมอัดวีดีโอการสอนล่วงหน้า ถ้ามีวีดีโอเหมือน Khan Academy ฉบับภาษาไทยก็อาจจะสบายหน่อย หรือไม่ ก็ต้องหาหน่วยงานกลางที่ทำวีดีโอแทน เช่น สสวท. ตกดึกก็คอยให้คำปรึกษาออนไลน์กับเด็กๆ ต้องหาเวลาออกแบบและเตรียมจัดกิจกรรม สร้างสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับเนื้อหาใหม่ ในแต่ละกิจกรรมที่ไม่เหมือนเดิม ครูต้องทบทวนความรู้พื้นฐาน ความเข้าใจในหลักการ เนื้อหาทั้งหลักสูตร เตรียมพร้อมสำหรับให้คำแนะนำเด็กๆ

ขณะทำกิจกรรม ครูต้องมีความพร้อมช่วยเหลือเด็กตลอดเวลา ต้องคอยกระตุ้นเด็ก ต้องสังเกตความเข้าใจของเด็ก เมื่อเด็กมีปัญหา ต้องวิเคราะห์ปัญหาและความเข้าใจของเด็กต่อปัญหานั้น ซึ่งปกติเด็กแต่ละคนจะมีปัญหาไม่เหมือนกัน เฮ้อออ … ถ้าจะเบาขึ้นสักอย่าง ก็คงไม่ต้องตรวจการบ้านนี่แหละ

ผลลัพธ์จากงานวิจัยในอเมริกายืนยันว่า ผลการเรียนของเด็กดีขึ้น เขาว่าอย่างนั้น ผมไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยัน ครูไทยต้องนำไปทดลองดูนะครับ

Categories
Education Scratch

หลายมุมมองจากการอบรมครูหลักสูตร Scratch เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

จบไปแล้วครับกับการอบรมครูหลักสูตร Scratch เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็เป็นที่ประทับใจของครูที่ได้รับการอบรมในครั้งนี้ แม้ว่าจะรู้สึกเครียด ยาก ในวันแรก แต่ก็มีรอยยิ้มกันได้ในวันสุดท้าย ที่สำคัญครูให้การตอบรับดีมาก ต้องการให้ สสวท. จัดหลักสูตรนี้อีก

ในแง่การรับรู้และการส่งเสริมการใช้โปรแกรม Scratch ถือว่าประสบความสำเร็จทีเดียว ครูได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากโปรแกรมนี้ ดูได้จากโปรเจกใหญ่ในวันสุดท้าย ที่ครูนำ Scratch ไปสร้างโปรเจกต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ บางกลุ่มก็สร้างสื่อการสอนในวิชาต่างๆ ซึ่งทำให้เห็นว่า ครูสามารถสร้างสื่อการสอนได้เอง อย่างไม่ยากเย็นอะไรเลย แค่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บวกกับเนื้อหาที่ตัวเองสอนอยู่แล้ว

คาดว่างานนี้เด็กๆ ไม่น้อยจากทั่วประเทศก็จะได้รับการถ่ายทอดความรู้จากครูที่ได้รับการอบรมในคราวนี้ ได้เรียนรู้การเขียนโปรแกรม ฝึกคิดแก้ปัญหา แล้วสร้างชิ้นงานที่สร้างสรรค์ และในอนาคต สสวท. จะจัดประกวดแข่งขันผลงานจากนักเรียนในแต่ระดับชั้นด้วย

ถึงแม้การอบรมจะจบไปแล้ว แต่งานวิจัยของ สสวท. อาจจะเพิ่งเริ่มต้น งานนี้ต้องตามไปดูการนำโปรแกรม Scratch ไปใช้งานจริงในห้องเรียน แล้วเก็บข้อมูลเพื่อดูว่าการเขียนโปรแกรมด้วย Scratch ได้ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นหรือไม่ งานนี้ไม่ง่ายเลย ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับนักวิชาการของ สสวท. สู้ต่อไป

การอบรมครั้งนี้มีครูได้รับเลือกมาเพียง 160 จากผู้สมัครกว่า 800 คน แสดงให้เห็นถึงความสนใจในหลักสูตรนี้ ครูที่พลาดการอบรมครั้งนี้ ก็คงคาดหวังให้มีการอบรมหลักสูตรนี้อีก หรืออย่างน้อยก็ขอเอกสารการอบรม นำไปศึกษาเอง หรืออาจนำไปสอนในเทอมถัดไป ก็ต้องบอกว่าเอกสารการอบรมครั้งนี้คงต้องปรับปรุงอีกสักหน่อย แก้คำผิด แก้ประเด็นที่ไม่ชัดเจนที่ได้จากการอบรมจริงที่ผ่านมา คาดว่าจะได้เวอร์ชั่นที่สมบรูณ์ยิ่งขึ้นในเดือนตุลา น่าจะทันสำหรับเทอมหน้า ครูที่สนใจต้องติดตามที่ เว็บไซต์ หรือ Facebook  ของสาขาคอมพิวเตอร์

การอบรมการใช้งานโปรแกรม Scratch ครั้งนี้ถือว่าได้ผลออกมาดีมากในเวลาที่จำกัด แต่ครูที่จะนำไปถ่ายทอดต่อคงต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะกระบวนการสอนการเขียนโปรแกรม เนื่องจากเนื้อแท้หรือความคาดหวังของการสอนเขียนโปรแกรมในเด็ก คือการสอนกระบวนการคิด แก้ปัญหา และถ่ายทอดความคิดออกมาได้อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่สอนใช้เครื่องมือหรือโปรแกรม ครูบางท่านอาจเห็นว่า การอบรมยังติดกับรูปแบบเดิมๆ อยู่บ้าง ที่เน้นการใช้โปรแกรม หรือเรียนรู้ตัวภาษาที่ใช้เขียนโปรแกรม ทั้งนี้ก็คงเพราะเวลามีจำกัด

Scratch ถูกเลือกมาใช้ในการอบรมครั้งนี้ อาจเป็นสิ่งใหม่กับครูหลายๆ ท่าน แต่ที่เลือก ก็เพราะว่า Scratch ได้รับการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง (MIT Media Lab) ในการสอนโปรแกรมสำหรับเด็ก หรือผู้ที่ไม่มีประสบการณ์เขียนโปรแกรมมาก่อน โดย Scratch ลดความยากและซับซ้อนของภาษาที่ใช้ ทำให้สามารถลดเวลาเรียนรู้ในการใช้งานโปรแกรมได้ ผู้เรียนจึงสามารถใช้เวลากับกระบวนการคิด แก้ปัญหา ได้มากขึ้น นอกจากนั้น การสร้างโปรเจกที่สร้างสรรค์ใน Scratch อย่างแอนิเมชั่น การเล่าเรื่อง การจำลอง หรือเกม ยังดึงดูดความสนใจของเด็กได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และอยู่กับมันได้นานๆ ไม่เบื่อไปซะก่อน

การอบรมด้วยเวลาที่จำกัด แม้เราจะใช้เวลากันถึงเย็น ครูบางท่านก็ทำต่อถึงดึก แต่ก็ต้องยอมรับว่าเวลายังไม่พอ หวังว่าครูจะศึกษาเพิ่มเติม แล้วมาแลกเปลี่ยนความรู้ หรือเทคนิคการสอน ได้ที่กลุ่มในเฟสบุ๊ค Scratch เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

ของยกตัวอย่างความคิดเห็นปิดท้าย จากครูหลายๆ ท่านในการอบรมครั้งนี้

ฉันค้นพบว่า “Scratch เป็นอะไรมากกว่าที่คิด”