การแข่งขันเข้มข้นในสังคมปัจจุบัน ทำให้พ่อแม่รุ่นใหม่ต้องเตรียมตัวให้ลูกตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว การจะเข้าเรียนอนุบาล (ในกทม.) ในโรงเรียนบางแห่งต้องจองล่วงหน้าหลายปี แถมบางแห่งพ่อแม่ต้องเข้าไปทำกิจกรรมกับโรงเรียนก่อน ถึงจะมีสิทธิส่งลูกเข้าเรียน เมื่อหาที่ให้ลูกเรียนได้แล้ว ที่เหลือเป็นหน้าที่ของทางโรงเรียนที่จะดูแลเด็กๆ ต่อไป (พ่อแม่หลายคนหวังอย่างนั้น)
นักการศึกษาที่อยากนำมาพูดถึง คือ Mitchel Resnick จาก MIT ผู้ซึ่งสนใจการเรียนในระดับอนุบาลเป็นอย่างมาก จากการศึกษาแนวโน้มการเรียนในระดับอนุบาลในสหรัฐฯ เขาพบว่ารูปแบบการจัดการเรียนรู้ในระดับอนุบาลในยุคปัจจุบันแทบจะไม่ต่างจากระดับชั้นอื่นๆ ในโรงเรียน ข้อค้นพบของ Mitchel Resnick นั้นก็คล้ายกับสถานการณ์ในเมืองไทย ที่ปัจจุบันพ่อแม่เล็งไปที่อนาคตของลูกตัวเอง ทำให้การเรียนในชั้นอนุบาลพุ่งเป้าไปยังความสำเร็จในอนาคต ฝึกเด็กๆ ให้ทำอะไรมากมาย บวก ลบ คูณ หาร ท่องศัพท์ เล่นคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ
เมื่อพยายามนึกย้อนกลับไปสมัยผมยังเด็ก (นานมาแล้ว) ผมจำได้แต่การวิ่งเล่นในลานกว้าง ก่อกองทราย เล่นกันในห้องเรียน วิ่งขึ้นชั้นสองลงชั้นหนึ่ง ภาพการเรียนทางวิชาการไม่หลงเหลือในความทรงจำเลย! Mitchel Resnick น่าจะมีประสบการณ์ตอนเรียนอนุบาลคล้ายกับผม เขาจึงพยายามทำให้เด็กๆ ที่เหลือในโรงเรียน (เด็กโต) เรียนเหมือนกับเด็กอนุบาลสมัยก่อน – วิถีเด็กอนุบาล
วิถีเด็กอนุบาล เป็นวิธีการเรียนที่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันอย่างมาก ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความไม่แน่นอนสูง ความาสามารถที่จะคิดอย่างสร้างสรรค์ เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในอาชีพการงานและความพึงพอใจในตัวเอง ดังนั้นไม่มีการเรียนรู้ใดที่จะสำคัญเท่ากับการฝึกให้คิดอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้หาคำตอบ แก้ปัญหาในสถานะการที่ไม่คาดคิดมาก่อน (เช่น น้ำท่วม กทม.) ซึ่งนับวันจะเกิดบ่อยขึ้นๆ
วิถีอนุบาลส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ แต่พอเด็กโตขึ้นจนสู่ระบบแข่งขัน เด็กยิ่งโตกลับยิ่งคล้ายหุ่นยนต์ไปทุกที วิถีเด็กอนุบาลเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เริ่มจาก จินตนาการ – สร้าง – เล่น- แบ่งปัน – สะท้อนประสบการณ์การเรียนรู้ – ย้อนกลับมาที่จินตนาการอีกที แล้วเริ่มกระบวนการทั้งหมดอีกครั้ง และอีกครั้ง การทำซ้ำเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการทำให้เด็กใช้ความรู้เดิม ต่อยอดเป็นสิ่งใหม่
การเล่นของเด็ก อาจเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ไป แต่กระบวนการพัฒนาของเด็กยังเหมือนเดิม จินตนาการหาไอเดียใหม่ – ออกแบบ ลงมือสร้างของจริง ลองผิดลองถูก – เล่น เล่น เล่น – แบ่งบันความรู้ สิ่งประดิษฐ์ ไอเดีย – สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ออกมา วิเคราะห์ วิจารณ์กับเพื่อนๆ สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ที่ต้องใช้เวลา และความอดทน ที่ครู พ่อแม่ ต้องให้โอกาสกับพวกเขา
แต่สิ่งใดที่จะทำให้เด็กที่กำลังโตขึ้น ยังรักษาวิถีเด็กอนุบาลได้ต่อไป ไม่เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เพื่อสอบแข่งขันที่ทำให้เด็กโตไปเป็นหุ่นยนต์ Mitchel Resnick กับทีมวิจัยของเขาได้พัฒนาโปรแกรมและภาษา Scratch เพื่อให้เด็กโตได้เรียนรู้ในสิ่งที่ท้าท้ายมากขึ้น ด้วยการใช้สื่อที่หลากหลาย ในยุคเทคโนโลยีดิจิตอลที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ยังคงรักษาวิถีเด็กอนุบาล วิถีแห่งความคิดสร้างสรรค์ ได้ต่อไป
One reply on “วิถีเด็กอนุบาล”
อยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งจัง