Categories
Education Scratch

สอนความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กด้วย Scratch

ความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างไร เราคงพอนึกกันออก แต่คำนิยามความคิดสร้างสรรค์นั้นยังไม่มีแน่ชัด แล้วความคิดสร้างสรรค์สามารถเรียนรู้กันได้หรือเปล่า ถ้าลองสำรวจดูจะสังเกตุได้ว่าความคิดสร้างสรรค์น่าจะมีอยู่สองแบบ คือ แบบที่ 1. ความคิดที่เกิดขึ้นมาเองแว๊บหนึ่งในสมอง เป็นความคิดใหม่ที่อาจยังไม่มีใครเคยคิดมาก่อน ความคิดแบบนี้เกิดได้ยากมาก บางครั้งมักเกิดจากโชค บางครั้งเกิดจากแรงบันดาลใจ

แบบที่ 2. คือความคิดที่เกิดจากประสบการณ์ การประยุกต์ปรับเปลึ่ยน สิ่งที่มีอยู่แล้ว วิธีคิดแบบนี้ต้องอาศัยความขยัน หมั่นสังเกตุลักษณะที่ใช้ร่วมกัน เชื่อมโยงประสบการณ์กับสิ่งใหม่ และคิดอย่างเป็นขั้นตอน ในงานโฆษณามักถูกมองว่าใช้ความคิดสร้างสรรค์ จากงานวิจัยพบว่าเกือบ 90 % ของงานที่ได้รางวัลชนะเลิศ เกิดจากการประยุกต์ใช้ 1 ใน 6 ของต้นแบบที่มีอยู่ก่อนแล้ว

อาจเป็นเรื่องยากที่จะสอนความคิดสร้างสรรค์ให้เด็ก แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย เพียงแต่ความคิดสร้างสรรค์ต้องอาศัยเวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หลากหลาย และการได้หัดคิด หัดสังเกตุ ประยุกต์สิ่งที่เคยเรียนมาแล้วกับสิ่งใหม่ โดยเฉพาะการประยุกต์ข้ามบริบทที่ดูเหมือนไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน

แนวทางการสอนเด็กเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ จึงไม่ใช่การให้โจทย์แล้วเฉลยคำตอบ เพราะเราไม่เน้นที่คำตอบ แต่เน้นที่กระบวนการคิด ดังนั้นควรใช้วิธีการชี้นำ ถามให้เกิดความสงสัย ถามให้เกิดการเชื่อมโยง ถามเพื่อให้เกิดการทดลอง และสิ่งที่สำคัญ คือการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดออกมา ถูกผิดไม่ใช่ประเด็นสำคัญ การแสดงออกทางความคิด เป็นกระบวนการตกตะกอนทางความคิด ทำให้เด็กได้เรียบเรียงสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้ว ถ่ายทอดออกมาทางคำพูด หรือ สื่อชนิดอื่นๆ

การสอนเด็กให้เขียนโปรแกรมด้วย Scratch เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้เด็ก ด้วยการฝึกคิดอย่างเป็นระบบ ฝึกการเชื่อมโยงผ่านโปรเจกที่หลากหลาย ฝึกเลือกใช้สื่อหลากหลายรูปแบบให้เหมาะสม เพื่อแสดงออกทางความคิดผ่านผลงานตัวเอง และได้ใช้เหตุและผล แลกเปลี่ยนความคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ ผลงานตัวเองและของผู้อื่น

Categories
BYOB Scratch

สร้างบล็อกใน BYOB

สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการเขียนโปรแกรม คือการสร้างฟังก์ชัน ซึ่งไม่ได้ถูกรวมเอาไว้ใน  Scratch เพราะฟังก์ชันอาจยากเกินไปสำหรับเด็กๆ

ถึงแม้ว่าสคริปต์หนึ่งๆ ใน Scratch จะทำหน้าที่ได้คล้ายกับฟังกชัน แต่มันไม่มีชื่อ และไม่สามารถรับข้อมูลเข้า หรือให้ข้อมูลออกมาได้

ใน BYOB (รูปซ้าย) สามารถสร้างฟังก์ชันได้โดยการสร้างบล็อกใหม่ ด้วยการเลือกคำสั่งหมวดตัวแปร (Variables) จากนั้นคลิกปุ่มสร้างบล็อก (Make a block) ซึ่งอยู่ด้านล่างสุดของหมวดนี้

หรือทำได้อีกวิธีหนึ่ง ด้วยการคลิกขวาตรงที่ว่าง บนพื้นที่สำหรับเขียนสคริปต์ จากนั้นคลิกเลือก “Make a block” จากเมนูที่โผล่ขึ้นมา

 

 

 

ไม่ว่าจะใช้วิธีใด จะมีวินโดว์สำหรับสร้างบล็อกโผล่ขึ้นมา (รูปขวา) ซึ่งสามารถคลิกเลือกว่าบล็อกใหม่นี้จะอยู่ในคำสั่งหมวดไหน (สังเกตุสีของบล็อกที่ต่างกัน)  คลิกเลือกรูปแบบของบล็อกได้ (command, reporter, predicate) และพิมพ์ชื่อให้กับบล็อกใหม่ได้

นอกจากนั้น บล็อกใหม่ยังกำหนดได้ว่าจะใช้ได้กับทุกตัวละคร (for all sprites) หรือได้เฉพาะตัวละครปัจจุบัน (for this sprite only)

Categories
Education Programming Scratch

Scratch ในมหาวิทยาลัย

อาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ Scratch ถูกนำมาสอนในมหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่มันมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กๆ ด้วยความที่มันใช้งานง่าย ลดความซับซ้อนในการเขียนโปรแกรม สร้างโปรเจกได้มากมายโดยเฉพาะกับสื่อต่างๆ เช่นภาพ เสียง แอนิเมชั่น ทำให้สนับสนุนในการเรียนการเขียนโปรแกรมของนักเขียนโปรแกรมมือใหม่ ขณะที่โปรแกรมขั้นสูง เช่น C หรือ Java อาจยากเกินไปสำหรับมือใหม่ เพราะตัวภาษาเหล่านี้ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน โอกาสเกิดข้อผิดพลาดในตัวภาษาเอง ขณะเขียนโปรแกรมมีได้บ่อยๆ ทำให้ใช้เวลาในการแก้ปัญหาตัวภาษาเป็นส่วนใหญ่ แทนที่จะมุ่งแก้ปัญหาในตัวโปรแกรมที่ต้องการแก้จริงๆ

Malan และ Leitner เล็งเห็นศักยภาพของ Scratch ว่าน่าจะเหมาะกับผู้หัดเขียนโปรแกรมครั้งแรก จึงได้ใช้ Scratch สอนในวิชาคอมพิวเตอร์เบื้องต้นที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพราะเมื่อไม่ต้องกังวลกับตัวภาษามากนัก ทำให้การเรียนหลักการเขียนโปรแกรมและนำไปใช้ได้ผล การเริ่มต้นด้วย Scratch จึงเป็นประตูนำไปสู่โปรแกรมภาษาที่สูงขึ้น ยากขึ้น ได้ง่ายกว่าเริ่มเรียนภาษาเหล่านี้เป็นภาษาแรกตั้งแต่ต้น

Categories
Scratch

ทำ PowerPoint ด้วย Scratch

PowerPoint เป็นการนำเสนอที่นิยมใช้ทั่วไป แต่อาจยากเกินไปสำหรับเด็กๆ Scratch ส่งเสริมให้เด็กแสดงออกทางความคิดได้หลากหลายรูปแบบ รวมทั้งสามารถทำ PowerPoint แบบง่ายๆ แต่ยังคงหลักการของการนำเสนอได้ โปรเจก Scratch4Kid แนะนำ Scratch ในรูปแบบ PowerPoint ที่สร้างด้วย Scratch พร้อมกับแอนิเมชั่นสั้นๆ เพิ่มสีสรรให้กับการนำเสนอด้วย

Scratch4Kidโปรเจกนี้มีตัวละคร 2 ตัวเป็นปุ่มลูกศรซ้ายขวา คลิกปุ่มขวาเพื่อเลื่อนสไลด์ไปข้างหน้า คลิกปุ่มซ้ายเพื่อเลื่อนสไลด์ถอยหลัง นอกจากนั้นยังใช้การกดคีย์ลูกศรซ้ายขวาบนคีย์บอร์ด ให้ทำงานเหมือนกับการคลิกปุ่มบนเวทีได้ด้วย ก่อนจะเปลื่ยนสไลด์ไม่ว่าด้วยวิธีใด ปุ่มลูกศรบนเวทีจะแสดงแอนิเมชั่นสั้นๆ ส่วนตัวสไลด์เป็นภาพฉากหลังของเวที เมื่อเวทีได้รับรหัส “next page” ก็จะเปลี่ยนฉากหลังถัดไป ถ้ารับรหัส “previous page” ก็จะเปลี่ยนฉากหลังก่อนหน้านี้

Categories
Scratch

แก้ไขโปรเจกที่แชร์ในเว็บไซต์ Scratch

สำหรับคนที่ได้สร้างโปรเจก Scratch แล้วแชร์โปรเจกนั้นในเว็บไซต์ scratch.mit.edu เมื่อต้องการแก้ไข ปรับปรุงโปรเจกที่ได้แชร์ไปแล้ว สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงปรับปรุงโปรเจกด้วยโปรแกรม Scratch ในเครื่องของตัวเองตามที่ต้องการ แล้วทำการแชร์อีกครั้งด้วย ชื่อเดิม เท่านั้นเอง แต่ถ้าต้องการแชร์โปรเจกเดิม ในเวอร์ชั่นใหม่ ให้แก้ไขชื่อใหม่ อาจใช้ตัวเลขต่อท้าย เพื่อสื่อถึงโปรเจกเดิมแต่เป็นเวอร์ชั่นใหม่