Categories
Kodu

Cracked Rabbit Gaming สอนสร้างเกมด้วย Kodu

Cracked Rabbit Gaming ได้สอนการเขียนเกมด้วย Kodu ไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว เรามาเรียนรู้การเขียนเกม ให้ได้อย่างเกมนี้กัน เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักเกม twin-stick shooter จากวีดีโอนี้ก่อนครับ

 

เกมนี้ผู้เล่นบังคับ Puck ให้เคลื่อนที่ไปรอบๆ ภายในกรอบหกเหลี่ยม ต้องคอยหลกหลีกศัตรู แล้วก็คอยยิงมันให้ได้ มุมขวาบนจะมีตัวเลขอยู่ 3 ค่า ตัวเลขแถวบนเป็นเวลาในการเล่นเกม ซึ่งจะลดลงเรื่อยๆ แถวกลางเป็นจำนวน Puck ที่ยังเล่นได้อีก ส่วนตัวเลขแถวล่างเป็นคะแนน ถ้ายิงได้ก็จะได้คะแนนเพิ่ม ตอนนี้เอาเท่านี้ก่อน คงพอเห็นภาพนะครับ

ขั้นตอนการสร้างเกม (twin-stick shooter) ด้วย Kodu

มาลองสร้างเกมกันครับ เริ่มต้นด้วยการเปิดโปรแกรม Kodu (รูปด้านล่างเป็นเวอร์ชันใหม่กว่าในวีดีโอ) จะเห็นข่าวเกี่ยวกับ Kodu อยู่ทางซ้ายมือ สามารถคลิกอ่านเพิ่มเติมได้

Kodu Menu

ในหน้าแรกของโปรแกรมจะมีเมนูหลัก (Main Menu) มีคำสั่งให้เลือกตามลำดับดังนี้ Resume (กลับไปยังโปรแกรมที่เปิดอยู่), New World (เริ่มต้นสร้างเกมใหม่ตั้งแต่ต้น), Load World (โหลดเกมที่มากับโปรแกรม), Community (โหลดเกมจากกลุ่มที่ทำเกม Kodu), Options (เปลี่ยนแปลงค่าต่างๆ ของเกม Kodu), Help (ขอความช่วยเหลือการใช้ Kodu), Quit Kodu (ออกจากโปรแกรม)

เลือก  New World เพื่อเริ่มสร้างเกมใหม่

Kodu new world

การสร้างเกมโดยทั่วไป จะเริ่มจากสร้างพื้นที่สำหรับเล่นเกมก่อน ซึ่งก็คือพื้นที่สีเขียวที่มีมาให้ตอนเริ่มต้น แต่เราสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ ด้านล่างจะเห็นเมนูไอคอนต่างๆ มากมาย เมนูที่มีกรอบสีเหลืองล้อมไว้ คือเมนูที่เลือกใช้อยู่ในขณะนี้ ถ้าเอาเมาส์ไปวางเหนือไอคอนเหล่านี้ จะเห็นชื่อเมนูด้านล่าง

เมนูไอคอนรูปมือที่เลือกอยู่นี้ เป็นการบังคับกล้อง (Camera) ให้เคลื่อนที่ในลักษณะ 3 มิติ ถ้าสังเกตุมุมบนซ้าย จะเห็นการใช้งานเมาส์เพื่อบังคับกล้อง (ในวีดีโอจะเป็นการใช้งานด้วยเกมแพด) ถ้าคนที่เคยเล่นเกม 3D มาก่อนก็จะคุ้นเคยเป็นอย่างดี คือใช้การคลิกซ้ายบนเมาส์แล้วลากเข้าออก เพื่อดึงพื้นที่เล่นเกมเข้าออก ลึกเข้าไปในจอ ถ้าคลิกขวาก็สามารถหมุนพื้นที่ในแนวนอนหรือตั้งก็ได้ และถ้าใช้ลูกกลิ้งหมุนขึ้นลง ก็จะเป็นการซูมพื้นที่เล่นเกมเข้าออก

โปรแกรม Kodu มีสองโหมด คือโหมดสร้างเกม (Edit Mode) ใช้สร้างพื้นที่เล่นเกม สร้างตัวละคร หรือวัตถุต่างๆ ลงไปในพื้นที่เล่นเกม หรือเขียนโปรแกรมให้ตัวละคร เป็นต้น อีกโหมดคือโหมดเล่นเกม (Play Mode) ซึ่งเข้าสู่โหมดนี้ได้ ด้วยการคลิกลูกศรสามเหลี่ยม (ถัดไปทางซ้ายของไอคอนมือ)

Kodu icons

เมนูไอคอนใน Kodu เวอร์ชันปัจจุบันอาจต่างไปบ้างจากวีดีโอ ลองมาดูไอคอนถัดๆ ไป ทางขวาของไอคอนมือ ไอคอนแรกคือไอคอนรูปตัว Kodu ใช้สำหรับวางตัวละครหรือวัตถุต่างๆ ลงไปบนพื้นที่เล่นเกม  ถัดไปเป็นไอคอนเส้นทาง (Path) ใช้สำหรับสร้างเส้นทางการเคลื่อนที่ให้กับตัวละคร ถัดไปเป็นไอคอนรูปแปรงทาสี (Brush) ใช้สำหรับสร้างพื้นที่ในการเล่นเกม จากรูปด้านบนจะเห็นไอคอนย่อยอยู่ข้างบนทั้งซ้ายและขวา ซึ่งใช้สำหรับปรับเปลี่ยนชนิดของพื้นผิว (ไอคอนซ้าย) หรือปรับรูปร่างของแปรง (ไอคอนขวา) ไอคอนถัดไปอีกสามไอคอนมีลักษณะคล้ายกัน ใช้สำหรับยกพื้นให้สูงหรือกดพื้นลงลึก หรือปรับให้เรียบ ลองเล่นดูครับ ถัดไปเป็นไอคอนน้ำ สำหรับใส่น้ำไปบนพื้น สามารถยกระดับน้ำได้ด้วย ถัดไปเป็นไอคอนยางลบ เอาไว้ลบตัวละครหรือวัตถุบนพื้นที่เล่นเกม ถัดไปเป็นไอคอนสำหรับตั้งค่าต่างให้กับสิ่งแวดล้อมในเกม

Kodu home menu

ไอคอนสุดท้ายซ้ายสุด เป็นไอคอนรูปบ้าน ใช้สำหรับทดลองเล่นเกม (Play world) แก้ไขเกม (Edit world) บันทึกเกมที่สร้างมา (Save my world) หรือจะโหลดเกมมาใหม่ (Load world) หรือเริ่มต้นสร้างเกมใหม่ตั้งแต่ต้น (New world) ถ้ามีเครื่องพริ้นเตอร์ก็สามารถพริ้นเอาโค้ดมาดูได้ (Print kode for level) หรือจะกลับไปยังเมนูหลัก (Exit to Main Menu)

 

เมื่อลองดูตัวอย่างการใช้งานปุ่มเมนูต่างๆ แล้ว น่าจะเห็นภาพ และน่าจะทดลองสร้างพื้นที่เล่นเกมตามในวีดีโอได้นะครับ จะเห็นว่าเขาเริ่มจากการสร้างพื้นที่เล่นเกมเป็นวงกลมขนาดใหญ่ก่อน จากนั้นวางตัวละคร (Puck) ลงไป สังเกตุว่า ถ้าใช้เกมแพด จะมี Cursor (วงกลมสีดำ) ใช้สำหรับบอกตำแหน่ง สามารถเลื่อนไปยังตัวละครหรือวัตถุแล้วเลือกได้ แต่ถ้าใช้เมาส์ ก็สามารถคลิกตำแหน่งหรือตัวละครที่ต้องการได้เลย

จากนั้นก็เริ่มต้นเขียนโปรแกรมให้ Puck เคลื่อนที่ด้วยจอยสติกด้านซ้ายของเกมแพด  สังเกตุการใช้ไอคอน Quickly หลายๆ อันต่อกันเพื่อเพิ่มความเร็วในการเคลื่อนที่ของ Puck ส่วนจอยสติกด้านขวาถูกโปรแกรมไว้สำหรับยิงกระสุน (Blip) ต่อมาก็ทำการปรับค่าความเร็วและจำนวนกระสุนของ Puck รวมทั้งการปรับค่าความสว่างที่ออกมาจาก Puck ด้วย เนื่องจากอยากให้ความสว่างนี้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นตอนเขียนโปรแกรมส่วนนี้ จึงไม่ต้องใส่ไอคอนต่อจาก When ซึ่งหมายถึงตลอดเวลานั้นเอง

สุดท้ายเป็นการปรับมุมมองของกล้องกับพื้นที่เล่นเกม โดยปรับพื้นที่เล่นเกมให้อยู่ในตำแหน่งระนาบ ขนานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ เมื่อได้ในตำแหน่งที่ต้องการ ก็ปรับโหมดของกล้องให้เป็น Fixed Offset

ติดตามต่อคราวหน้านะครับ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s