Physical Computing เกี่ยวกับอะไร ถ้าตอบแบบกว้างๆ ก็คือ การสร้างระบบหรืออุปกรณ์เครื่องมือ (Hardware) ที่สามารถโปรแกรม (Software) เพื่อติดต่อและโต้ตอบกับโลกภายนอกได้ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น ทีวี ไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า ฯลฯ
การสร้างอุปกรณ์เหล่านี้ด้วยตัวเองอาจดูไกลเกินไป แต่ถ้าปรับระดับลงมา ประมาณบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กๆ พอที่เด็กๆ น่าจะเล่นได้ ก็กำลังได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดโปรเจก Arduino ขึ้นมา แล้วได้รับความสนใจอย่างมากในวงการการศึกษา
Arduino เป็นระบบเปิด (Open source) ทั้งตัวอุปกรณ์ (Hardware) และโปรแกรมที่ใช้ (Software) ตัวอุปกรณ์สามารถทำได้เอง หรือจะซื้อ ราคาก็ไม่แพง ความรู้ ตัวอย่าง และข้อมูลก็มีมากมายในเว็บ ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมาก
เมื่อมองในแง่การศึกษา เราสามารถส่งเสริมให้เด็กๆ ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่ใช้ Arduino เป็นเครื่องมือหนึ่งพร้อมทั้งเขียนโปรแกรมขึ้นมาใช้งาน การทำโครงงานจะทำให้เด็กๆ ได้ฝึกแก้ปัญหา และทำงานอย่างเป็นระบบ ได้เรียนรู้แบบบรูณาการ ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ที่เรียนมา ผสมผสานกับเทคโนโลยี และการเขียนโปรแกรม
Arduino ยังนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกมากมาย ตามแต่จินตนาการ เช่น นำไปช่วยควบคุมการรดน้ำต้นไม้ ทำเป็นเครื่องประดับติดตามเสื้อผ้า หรือของตกแต่งบ้านก็ได้ ประเด็นสำคัญคือ อุปกรณ์เหล่านี้ใกล้ตัวเรามากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเรียนมาเฉพาะด้านเพื่อใช้งานมัน
เมื่อมองไปในอนาคตอันใกล้ เด็กรุ่นใหม่ น่าจะสามารถคิด จินตนาการ แล้วก็ลงมือสร้างสิ่งที่คิดเหล่านั้น ใส่ความพยายามเข้าไปสักหน่อย พวกเขาก็จะสามารถแสดงออกทางความคิดสู่สิ่งประดิษฐ์ ได้อย่างไม่ยากเย็น
One reply on “Physical Computing”
[…] https://kidsangsan.com/2013/01/12/physical-computing/ […]