หลักการในการทำแอนิเมชัน มีมากมายและซับซ้อนขึ้นทุกวัน เพราะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกก้าวหน้าไปมาก ทำให้โปรแกรมทำแอนิเมชันมีความสามารถสูงขึ้น และผู้เรียนต้องใช้ความพยายามในการศึกษาแอนิเมชันมากขึ้นไปด้วย
ถ้าจะสอนการทำแอนิเมชันให้เด็กๆ คงต้องใช้หลักการแบบง่ายๆ และเครื่องมือที่ใช้ต้องง่ายด้วย เช่น Scratch เด็กๆ จะเข้าใจและสามารถทำเองได้ หลักการทำแอนิเมชันที่ว่านี้ ก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งภาพและเสียงในแต่ละช่วงของเวลา ในคราวนี้มารู้จักบล็อกคำสั่งต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้ในโปรเจก Scratch เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพที่เห็นในหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำได้หลายลักษณะ เช่น
- การปรากฏหรือซ่อนตัว – ตัวละครในโปรเจก Scratch สามารถปรากฏบนเวทีหรือไม่ก็ได้ การปรากฏ (show) หรือซ่อนตัว (hide) ของตัวละคร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาพแบบทันทีทันใด
- การเปลี่ยนฉากหลัง – ภาพฉากหลัง (background) มีส่วนร่วมกับเรื่องราวในแอนิเมชั่นเป็นอย่างมาก ปกติก็จะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อมีการเปลี่ยนฉาก ย่อมเรียกความสนใจจากผู้ชมได้เสมอ
- การเปลี่ยนขนาด – การเปลี่ยนขนาด (size) ของตัวละคร ทำให้รู้สึกถึงการขยายหรือหดตัวของวัตถุ บางกรณียังทำให้เกิดมิติที่สามในด้านความลึก หรือความใกล้ไกลของตัวละครบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ถ้าตัวละครเคลื่อนที่ด้วย จะทำให้รู้สึกเหมือนว่าตัวละครกำลังเคลื่อนที่เข้าออกมาจากหน้าจอ
- การเปลี่ยนตำแหน่ง – การกำหนด (set) ตำแหน่งในระบบพิกัด (x,y) ของตัวละคร สามารถกำหนดที่ตำแหน่งใดก็ได้ ภายในหรือภายนอกกรอบเวทีก็ได้ การเปลี่ยน (change) ตำแหน่ง ทำให้ตัวละครเหมือนหายตัวได้ หายจากที่หนึ่งไปโผล่อีกที่หนึ่ง หรือถ้าเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ตัวละครเหมือนกำลังเคลื่อนที่
- การเคลื่อนที่ – การเคลื่อนที่ (move) เป็นพื้นฐานในการเคลื่อนที่แบบเส้นตรงของตัวละคร ตัวละครสามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งใด (go to) ก็ได้ภายในกรอบเวที หรือเดินหายออกไปจากกรอบเวทีก็ได้
- การหมุน – การหมุน (turn) ของตัวละคร ก็เป็นพื้นฐานในการเคลื่อนที่ในระบบสองมิติของเวที เป็นการเคลื่อนที่เชิงมุมรอบจุดหมุนของตัวละครเอง
- การเคลื่อนที่แบบเส้นโค้ง – นอกจากการเคลื่อนที่แบบเส้นตรงแล้ว ตัวละครสามารถเคลื่อนที่ได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น เมื่อเปลี่ยนตำแหน่งหรือเคลื่อนที่ไปพร้อมกับการหมุน เช่น การเคลื่อนที่เป็นวงกลม เคลื่อนที่เป็นเส้นโค้ง
- การเคลื่อนที่ไปยังเป้าหมาย – เป้าหมายมีได้หลายแบบ เช่น ตัวละคร หรือเมาส์ เป้าหมายมีทั้งอยู่กับที่หรือเคลื่อนที่ได้ การเคลื่อนที่ไปยังเป้าหมาย ต้องอาศัยการกำหนดเป้าหมายก่อนการเคลื่อนที่ ถ้าเป้าหมายเคลื่อนที่ต้องกำหนดเป้าหมายใหม่เรื่อยๆ ซึ่งทำได้โดยใช้บล็อกควบคุมทำซ้ำมาช่วย
- การเคลื่อนที่แบบไร้ทิศทาง – การเคลื่อนที่แบบนี้น่าสนใจ เพราะคล้ายกับการเคลื่อนที่ของสัตว์บางชนิด เช่น มด ปลา เป็นต้น หรือจะนำมากำหนดการเคลื่อนที่ให้ตัวละครในเกมก็ได้ เพื่อให้เกมสนุกขึ้น เพราะผู้เล่นไม่สามารถเดาทิศทางของตัวละครนั้นๆ ได้ เพื่อไม่ให้คาดเดาการเคลื่อนที่ได้ ต้องอาศัยค่าจากการสุ่ม (random) ทั้งในการเคลื่อนที่ และการเปลี่ยนทิศทาง
- การเคลื่อนที่ตามฟังก์ชัน – วิธีนี้สามารถนำมาเขียนกราฟได้ หรือจำลองการเคลื่อนที่แบบเฉพาะ เช่น การเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ได้ โดยกำหนดการเปลี่ยนแปลงในแกน x แบบคงที่ (เช่น เพิ่มขึ้นที่ละ 1) แต่การเปลี่ยนแปลงในแกน y ขึ้นกับฟังก์ชันของ x
- การเปลี่ยนความเร็ว – ตัวละครเคลื่อนที่ในความเร็วที่ต่างกันได้ จากการกำหนดค่าในบล็อกเคลื่อนที่ (move) ค่ามากก็เคลื่อนที่เร็ว ค่าน้อยก็จะช้า หรือจะกำหนดความเร็วคงที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมายที่กำหนด (glide) ก็ทำได้ การเคลื่อนที่จากช้าไปเร็ว หรือเร็วมาช้า จะให้ความรู้สึกเรื่องของเวลากับแรงส่ง แรงต้าน แรงหน่วง หรือแรงโน้มถ่วงได้
- การเปลี่ยนรูปร่างท่าทาง – แม้ตัวละครจะไม่เคลื่อนที่ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนรูปร่างท่าทาง ด้วยการเปลี่ยนชุดละคร (costume) ก็จะทำให้ผู้ชมรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของตัวละครนั้นได้
- การใส่เอฟเฟ็ค – ทั้งตัวละครและฉากหลังสามารถใส่เอฟเฟ็ค (graphic effects) ได้ เพื่อเพิ่มสีสันและความแปลกใหม่ เช่น การเปลี่ยนสี (color) จากสีหนึ่งไปยังอีกสีหนึ่งทันทีทันใด ทำให้เราสังเกตุได้ในทันที แต่ถ้าค่อยๆ เปลี่ยน ก็จะทำให้รับรู้ถึงช่วงเวลา เช่น ช่วงพระอาทิตย์กำลังขึ้นหรือตกดิน