ในยุคปัจจุบัน เกือบทุกโรงเรียนน่าจะมีคอมพิวเตอร์พอสำหรับเด็กทุกคนในหนึ่งห้องเรียน แต่สำหรับการสอนเด็กเขียนโปรแกรม อาจไม่จำเป็นที่เด็กทุกคนต้องใช้คอมพิวเตอร์ของตัวเอง เทคนิคหนึ่งเรียกว่า Pair programming เป็นการเขียนโปรแกรม ที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องต่อ 2 คน โดยคนหนึ่งเป็นผู้เขียนโปรแกรม ส่วนอีกคนหนึ่งคอยดูโค้ดที่กำลังเขียนอยู่ คอยตรวจสอบความถูกต้อง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเขียนโค้ด วิธีนี้คล้ายกับการแข่งรถ ที่มีคนขับรถนั่งคู่กับคนบอกทาง แต่ที่อาจจะแตกต่างไปบ้าง คือการเขียนโปรแกรมวิธีนี้สามารถเปลี่ยนบทบาทกันได้ บ่อยๆ เพื่อเพิ่มทักษะการเขียนโปรแกรมให้ครบทุกด้าน
วิธีการเขียนโปรแกรมแบบเป็นคู่ อาจไม่เหมาะกับทุกสถานะการณ์ แต่มีหลายประเด็นที่เหมาะกับการสอนเด็กให้เขียนโปรแกรม โดยเฉพาะเด็กที่เริ่มหัดเขียนโปรแกรมใหม่ๆ การเขียนโปรแกรมเป็นคู่ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน เพิ่มทักษะการเขียนโปรแกรมในหลายๆ ด้าน เช่น การเขียนโค้ดอย่างถูกต้องและลดข้อผิดพลาดลง การทำความเข้าใจในโค้ด การตรวจสอบตรรกะและความถูกต้องของโปรแกรมภาษา การออกแบบและแก้ไขโปรแกรมร่วมกัน และยังเพิ่มทักษะการสื่อสารระหว่างกันอีดด้วย
อย่างไรก็ตาม การเขียนโปรแกรมเป็นคู่ ต้องอาศัยครูหรือผู้สอนเขียนโปรแกรม คอยสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ครูต้องคอยสำรวจความก้าวหน้าของแต่ละคู่ และให้เปลี่ยนหน้าที่เป็นระยะๆ บางครั้งการสลับคู่อาจจำเป็น ในกรณีที่เด็กคนหนึ่งเก่งกว่าอีกคนหนึ่ง อาจทำให้เด็กที่อ่อนกว่านั่งอยู่เฉยๆ แต่ในกรณีที่อ่อนทั้งคู่พบกับอุปสรรคอยู่บ่อยๆ ครูต้องดูแลเป็นพิเศษ วิธีนี้ทำให้ภาพรวมการเรียนทั้งชั้นดีขึ้น จากการช่วยเหลือกันเองของเด็ก ทำให้ครูมีประสิทธิภาพในการใช้เวลาสอน สามารถดูแลกลุ่มเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าปกติเพิ่มขึ้น
สำหรับเด็กที่มีประสบการณ์ในการเขียนโปรแกรมมากแล้ว อาจชอบเขียนโปรแกรมคนเดียวมากกว่า สถานะการณ์แบบนี้ ควรให้เด็กเขียนโปรแกรมเป็นทีม อยู่กันเป็นกลุ่ม แต่ทุกคนในทีมใช้เครื่องของตัวเอง
ปัจจุบันครูสอนคอมพิวเตอร์ยังมีน้อย การสอนเด็กทั้งชั้นเรียน เป็นเรื่องที่หนักมาก ปกติครูควรมีผู้ช่วยสอนอย่างน้อย 1 คนต่อเด็ก 6-8 คน ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก การให้เขียนโปรแกรมแบบเป็นคู่ จะช่วยลดภาระของครูได้ และยังประหยัดงบประมาณและพลังงานของโรงเรียนอีกด้วย