ใน SimpleCircuit ก็มีใบคำสั่งไว้เพื่อให้ข้อมูลก่อนการแสดงการจำลอง มันจะหายไปเมื่อการจำลองเริ่มขึ้น สคริปต์ของใบคำสั่งนี้เพียงแค่ทำให้มันหายไปหลังจากคลิกธงเขียว เหมือนในโปรเจก GravityBlocks
แผงวงจรเป็นแบบอนุกรมง่ายๆ มีขั้วต่ออุปกรณ์ 3 แห่ง ตัวขั้วมีสีเหลืองกับสีฟ้าเพื่อใช้ในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ แผงวงจรมี 2 รูปแบบ แบบปกติที่มีสีสันสวยงาม กับแบบที่เป็นสัญลักษณ์ทางไฟฟ้า สคริปต์ของแผงวงจรทำแค่สลับรูปแบบเมื่อผู้ใช้กด “space bar” โดยใช้บล็อกควบคุมถ้ามิฉะนั้น (if-else) ในการกำหนดการแสดงรูปแบบ นั้นก็คือถ้าผู้ใช้กด “space bar” ให้แสดงรูปแบบสัญลักษณ์ (Symbols) มิฉะนั้นแสดงรูปแบบสีสันปกติ (Blank Circuit)
เมื่อคลิกธงเขียว อุปกรณ์ทุกตัวต้องกำหนดขนาดเริ่มต้นเท่าของจริงก่อนด้วยบล็อกตั้งค่าขนาด (set size to) ทั้งนี้เพราะขนาดมีผลต่อการเชื่อมเข้าแผงวงจร อุปกรณ์ทุกตัวจะมาอยู่ตรงกลางแผงวงจรเพื่อให้ผู้ใช้นำมันไปวางในแผงวงจรเอง วิธีการหาตำแหน่งบนเวทีเพื่อใช้ในสคริปต์ทำได้โดยลากอุปกรณ์เช่นแบตเตอรี่ไปยังตำแหน่งที่ต้องการ จากนั้นสังเกตุตำแหน่ง x กับ y ในบริเวณข้อมูลของแบตเตอรี่ เอาค่า x กับ y ที่ปรากฏไปใช้ในบล็อกไปยัง (go to) สังเกตุตัวเลขที่ตรงกัน
สำหรับสคริปต์ของแบตเตอรี่ เหมือนกันกับฉากเวที ที่ทุกครั้งที่เรากด “space bar” ให้แสดงรูปแบบสัญลักษณ์ของแบตเตอรี่ มิฉะนั้นแสดงรูปจริงแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ยังถูกตรวจสอบด้วยว่าตัวมันเองเชื่อมต่อกับแผงวงจรหรือยัง โดยตรวจดูว่าตัวมันสัมผัสกับสีเหลืองและสีฟ้า (สีของขั้วในแผงวงจร) หรือยัง ถ้าใช่ให้ตั้งค่าตัวแปร “battconnected” เท่ากับ 1 ถ้ายังให้ตั้งค่าเป็น 0 ทั้งนี้เพื่อเช็คการครบวงจรนั้นเอง
สังเกตุว่าการโต้ตอบระหว่างผู้ใช้กับโปรแกรมจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้นการตรวจสอบการกดคีย์บอร์ดและการเชื่อมต่อวงจร ต้องอยู่ในบล็อกควบคุมวนซ้ำตลอด (forever) เพื่อรับการตรวจสอบตลอดเวลาที่โปรแกรมยังทำงาน
One reply on “เริ่มต้นสร้างแผงวงจร”
[…] ในการจำลอง SimpleCircuit อุปกรณ์ทุกตัวต้องเชื่อมต่อในแผงวงจรจนครบวงจร หลอดไฟจึงจะติดเมื่อเปิดสวิตช์ สคริปต์ของทุกอุปกรณ์จะต้องถูกตรวจสอบว่าเชื่อมต่อกับแผงวงจรหรือยัง เหมือนแบตเตอรี่ […]